สำหรับคุณแม่ที่มีลูกแพ้อาหาร การส่งลูกออกจากอ้อมอกไปโรงเรียนครั้งแรกอาจเป็นเรื่องที่ทำให้คุณกังวลจนนอนไม่หลับไปหลายวัน อาจมีคำถามในใจต่างๆนานาว่าลูกจะไปเผลอกินสิ่งที่ตัวเองแพ้ที่โรงเรียนมั้ย ถ้าเกิดอาการแพ้อย่างเฉียบพลันจะทำอย่างไร คุณครูจะทราบมั้ยว่านี่คืออาการแพ้ โรงเรียนจะส่งลูกไปโรงพยาบาลทันหรือเปล่า ลูกจะเสียใจหรือเศร้ามั้ย ถ้าไม่ได้กินข้าวและขนมเหมือนเด็กคนอื่น วันนี้เรามีวิธีการเตรียมตัวเตรียมใจ 10 ข้อที่อยากจะมาแบ่งปันเพื่อช่วยคลายความกังวลของคุณแม่ในการส่งลูกน้อยจอมแพ้ไปโรงเรียนได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

1.ศึกษานโยบายของโรงเรียนเกี่ยวกับเด็กแพ้อาหาร
ก่อนอื่นเลยเราต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายของโรงเรียนในการดูแลเด็กแพ้อาหารให้มากที่สุดอาจจะจากการคุยกับฝ่ายบริหารของโรงเรียน ครูใหญ่ เว็บไซด์โรงเรียน หรือสอบถามจากผู้ปกครองท่านอื่นๆที่อยู่ในโรงเรียนนั้นๆมาก่อน เช่น ถ้าลูกเราแพ้ถั่วอย่างรุนแรง ก็ควรดูว่าโรงเรียนที่เราจะส่งลูกไปเคยดูแลเด็กที่แพ้เหมือนกันมาก่อนหรือไม่ โรงเรียนอนุญาตให้เด็กนำขนมมาเองหรือไม่ ในกรณีที่แพ้ถั่วรุนแรงสามารถทำให้ห้องเรียนเป็นเขตปลอดถั่วลิสงได้หรือไม่(Nut free classroom) การจัดการเด็กๆในการรับประทานอาหารกลางวันเป็นอย่างไร มีใครดูแล มีโต๊ะพิเศษแยกสำหรับเด็กแพ้อาหารหรือไม่ ครูเคยมีประสบการณ์ใช้เข็มอดรีนาลีนในกรณีฉุกเฉินหรือเปล่า(Epi-pen trained) หากเกิดเหตุฉุกเฉิน โรงเรียนมีรถพยาบาลหรือมาตรการอย่างไรในการส่งเด็กไปโรงพยาบาล ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เรากลับมาวางแผนการได้อย่างรอบคอบมากขึ้น ว่าหากเราจะส่งลูกไปโรงเรียนนั้นๆ มีส่วนไหนที่ต้องระวังเป็นพิเศษจะได้เตรียมตัวอย่างถูกต้อง
2. นัดคุยกับครูประจำชั้นและครูผู้ช่วยเกี่ยวกับการแพ้อาหารของลูก
หลังจากที่เรารู้จักโรงเรียนมากขึ้นแล้ว ขั้นตอนนี้สำคัญมาก การนัดคุยกับครูประจำชั้นเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับอาการแพ้อาหารของลูก เพื่อให้ครูประจำชั้นรู้จักและจำลูกเราได้มากขึ้น เราควรสื่อสารกับครูว่าเราต้องการความร่วมมืออะไรบ้าง ครูช่วยดูแลลูกอย่างไรได้บ้าง อาการแพ้ของลูกคืออะไร เราต้องเตรียมอาหารและขนมไปให้ลูกเองหรือไม่ ถ้ามีบางอย่างในเมนูอาหารที่ลูกกินได้ คุณแม่อาจตกลงกับคุณครูขอเมนูมาดูก่อนและแจ้งให้โรงเรียนทราบว่าอะไรที่ทานได้บ้าง ในบางโรงเรียน ครูจะมีบอร์ดติดข้อมูลของเด็กแต่ละคนในห้องไว้ว่าใครแพ้อะไร และหากเราขอให้โรงเรียนทำห้องเรียนของลูกเป็นเขตปลอดถั่ว หน้าห้องก็ควรมีป้ายแปะไว้ให้ชัดเจนและอาจร้องขอให้ครูทำจดหมายแจ้งผู้ปกครองคนอื่นในห้องให้ทราบโดยทั่ว
3. จัดทำเอกสารให้ครู แจ้งถึงขั้นตอนในการดูแลลูกหากมีอาการแพ้
ถึงแม้เราจะได้มีการพูดคุยกับครูแล้ว การทำเอกสารรายละเอียดให้ครูเก็บไว้ในห้องเรียนจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและเป็นการไม่ประมาทสำหรับเหตุการ์ณที่เราไม่คาดคิด เช่นครูประจำชั้นลาและมีครูอื่นมาแทน คนที่มาแทนจะได้สามารถดูแลลูกเราต่อได้อย่างราบรื่น โดยข้อมูลในเอกสาร เราอาจกล่าวถึงประเภทอาหารที่ลูกแพ้ อาการแพ้ที่สังเกตได้ ข้อควรปฎิบัติเมื่อมีอาการแพ้ รวมถึงเบอร์โทรผู้ปกครองและแพทย์ประจำตัวเด็ก
4. เตรียมยาแก้แพ้และ เข็มอดรีนาลีน Epi-pen ใส่ไว้ในกระเป๋าลูกเสมอ หรือฝากไว้ที่ครูประจำชั้น
สำหรับบ้านที่ลูกแพ้มาก หรือแพ้บ่อย เราควรมียาที่จำเป็นประจำตัวลูก ทั้งยากิน ยาพ่น และเข็มอดรีนาลีน ติดกระเป๋าลูก และ/หรือห้องเรียนของลูกไว้เสมอเพื่อไว้ดูแลลูกกรณีที่มีอาการแพ้เกิดขึ้นที่โรงเรียน
5. พูดคุยกับลูกซ้ำๆเกี่ยวกับอาหารที่เค้าแพ้ และสิ่งที่เค้าต้องทำเมื่อไปโรงเรียน
เด็ก3ขวบ อาจไม่เข้าใจทั้งหมดว่าอะไรคือสิ่งที่เค้ากินได้หรือไม่ได้ แต่สิ่งที่เราควรสอนลูกเสมอคือให้เค้ารู้จักพูดตามซ้ำๆว่าเค้าแพ้อะไรบ้างจะได้บอกคนอื่นที่โรงเรียนได้ ในกรณีที่ไม่แพ้รุนแรง ควรสอนให้ลูกถามครูก่อนจะทานอะไรทุกครั้งเพื่อให้ครูช่วยเช็คว่าลูกสามารถรับประทานได้หรือไม่ แต่ในกรณีที่แพ้รุนแรง ขอแนะนำว่า ให้ย้ำกับลูกและครูไปเลยว่าลูกจะไม่ทานอะไรนอกเหนือจากสิ่งที่แม่เตรียมไปให้ เพราะคงไม่มีใครรู้ดีเท่าเราว่าอะไรที่ลูกทานได้หรือไม่ได้ จริงไหม

6. ทำป้ายห้อยคอลูก กำไล หรือบัตรติดเสื้อในวันแรกๆ
ขอบอกเลยค่ะว่ามีประโยชน์มากๆ ในวันแรกๆที่ครูประจำวิชาอื่นๆ หรือครูผู้ช่วยในโรงอาหารยังไม่รู้จักลูก การทำป้ายแปะตัวโตๆว่าลูกฉันแพ้อาหารมันช่วยเพิ่มความปลอดภัยในโรงเรียนให้กับลูกอย่างมาก เช่น ผู้เขียนเคยมีประสบเหตุการณ์ว่า ครูศิลปะใช้เพลโดในการทำกิจกรรมโดยที่ไม่ทราบว่าลูกเราแพ้แป้งสาลีแบบแตะก็ไม่ได้ ผลคือ ซักพักครูโทรมาบอกว่าลูกมือแดงบวม ตาบวม ต้องให้ทานยาแก้แพ้และส่งกลับไปพักที่บ้าน หลังจากวันนั้น ไม่ว่าจะส่งลูกไปทำกิจกรรมอะไรใหม่ๆ ก็ทำป้ายคล้องคอไปเลยค่ะ ทุกคนที่เจอลูกจะได้รู้กันทั่วหน้าว่าลูกฉันแพ้นะ โปรดระวัง หลังจากนั้นมีครูหลายคนมาบอกเลยว่าป้ายนี้ดีมาก นอกจากครูจะระวังมากขึ้นแล้ว ตัวเด็กเองก็ระวังตัวเองมากขึ้น เด็กเล็กๆยังสื่อสารไม่เก่งว่าตัวเองแพ้อะไรบ้าง เค้าก็ชูป้ายให้ครูดูค่ะว่านี่คือสิ่งที่เค้าแพ้ ผ่านไปซักสองอาทิตย์มั่นใจว่าทุกคนเข้าใจแล้ว ก็เอาป้ายออกได้
7. เตรียมขนมที่ลูกกินได้เก็บส่วนหนึ่งไว้ที่โรงเรียน
เราคงไม่อยากให้ลูกรู้สึกแปลกแยก หรือด้อยกว่าคนอื่นในวันที่มีปาร์ตี้วันเกิด หรืองานโรงเรียนแล้วลูกกินเค้กหรือขนมแบบคนอื่นไม่ได้ใช่มั้ยคะ วิธีแก้มันง่ายมากคือเราก็ทำให้เค้าเป็นคนพิเศษกว่าคนอื่นไปเลยค่ะ เตรียมขนมที่ลูกชอบกินสุดๆ ฝากครูประจำชั้นเก็บไว้ หรือเก็บไว้ในช่องแข็งที่โรงเรียนซักจำนวนหนึ่ง และในวันที่โรงเรียนมีงานแจกขนมที่ลูกกินไม่ได้ ให้ครูนำขนมพิเศษของเค้าออกมาให้เค้าแทน แค่นี้ก็ไม่เศร้าแล้วล่ะค่ะ แต่จะยิ้มแป้นเลย
8. รักษาความสัมพันธ์กับผู้ปกครองท่านอื่นและคุณครูให้ดีที่สุด
“Communication- the human connection – is the key to personal and career success.” –Paul J. Meyer
ความสัมพันธ์ดี ชีวิตก็ง่ายขึ้นค่ะ ที่โรงเรียน แม่เพื่อนทุกคนรู้ว่าลูกแพ้อะไร ในวันที่มีงานโรงเรียน หรืองานวันเกิดเด็กๆ แม่ๆในห้องน่ารักมาก เพราะเราติดต่อกันเสมอ ทุกคน มาถามว่าลูกเราทานขนมอะไรได้บ้างแล้วก็เลือกเอาขนมที่ลูกเราจะทานได้ด้วยมาโรงเรียน มันดีมากเลยค่ะ
9. เก็บโทรศัพท์ไว้ใกล้ตัว ตั้งเปิดเสียงสำหรับเบอร์โรงเรียน
แม่เด็กแพ้ติดโทรศัพท์ค่ะ ในเดือนแรกๆที่เราส่งลูกไปโรงเรียน คุณครูอาจโทรมาถามว่านู่นนี้น้องทานได้มั้ย เล่นได้มั้ย อาการแบบนี้คือแพ้หรือไม่ โทรศัพท์จึงต้องอยู่ใกล้ตัวค่ะ อีกอย่างคือถ้ามีอะไรฉุกเฉินโรงเรียนจะได้ติดต่อเราได้ทันเวลา
10. ใจเย็นและยิ้มไว้ค่ะ
ทราบมั้ยคะว่าเด็กๆจะสามารถรับรู้ถึงความรู้สึกของแม่ได้โดยที่แม่ไม่ต้องพูดอะไร ถ้าเรากลัวลูกก็จะกลัว ถ้าเราเศร้าลูกก็จะเศร้าตาม และถ้าเราแสดงออกว่าเราสงสารลูก ลูกก็จะสงสารตัวเอง ไม่อยากให้เป็นแบบนั้นเลยค่ะ ในทางกลับกันพลังงานดีๆที่เราส่งออกไปให้ลูก จะทำให้ลูกเข้มแข็ง มีกำลังใจและมีความสุขกับชีวิตตัวเอง แม่เด็กแพ้ยิ่งต้องคิดบวกค่ะ แล้วก็สู้ การที่ลูกแพ้อาหารไม่ใช่สิ่งที่แย่ที่สุดในโลก เพียงแต่ลูกและเราต้องปรับตัว เผชิญปัญหาและแก้ไขกันไปค่ะ สู้ๆ